in , ,

รีวิว ORA Good Cat ลองขับก่อนเปิดราคา บอกเลยดีเกินคาด นี่แหละรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาเปลี่ยนเกม

หากจะพูดถึงรถยนต์ที่ถูกจับตามอง และมีกระแสร้อนแรงมากที่สุดในเวลานี้ คงจะเป็นรุ่นใดไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ ORA Good Cat ซึ่งจัดเป็นโมเดลที่ 2 ของค่าย Great Wall Motors ที่จะเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทย แถมเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ซะด้วย

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ORA Good Cat นั้น จะเป็นรุ่นบุกเบิกเปิดตลาดของแบรนด์ ORA ที่เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) โดยเฉพาะของ GWM ซึ่งตรงนี้ถือว่าทางค่ายกล้า และมั่นใจมากๆ ว่าเจ้าแมวดีคันนี้ จะเป็นรุ่นที่เข้ามาเปลี่ยนเกมตลาดรถยนต์ของไทยให้ก้าวไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว แต่มันจะเป็นอย่างที่ทาง GWM ตั้งใจไว้หรือไม่? คงต้องไปว่ากันในวันเปิดราคาจำหน่าย 29 ตุลาคมนี้ แต่สำหรับวันนี้ทีมงาน Autostation.com มีข้อมูล และสมรรถนะการขับขี่มาฝากให้ได้พิจารณากันก่อน

สำหรับบทความนี้เราจะพูดถึงแต่ในเรื่องของสมรรถนะการขับขี่เป็นหลัก เพราะสเปค และรายละเอียดทั้งหมดของตัวรถแต่ละรุ่นย่อย เราได้จัดทำบทความแยกไว้ให้ก่อนแล้ว สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เปิดสเปค ORA Good Cat ทั้ง 3 รุ่นย่อย 400 TECH, 400 PRO และ 500 ULTRA ต่างกันอย่างไร?

โดยการทดสอบครั้งนี้ทาง Great Wall Motors ได้จัดรูปแบบการทดสอบเอาไว้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ การขับในสนาม (Test Track) และ การขับบนถนนจริงบนเส้นทางกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา (ระยะทางไปกลับประมาณ 200 กม.) ที่ช่วยให้เราได้รู้จัก และสัมผัสสมรรถนะที่แท้จริงของ ORA Good Cat ได้อย่างลึกซึ้ง

สำหรับจุดเด่นของ ORA Good Cat นั้น ต้องบอกว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ครบเครื่อง และมีพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของดีไซน์สุด Cute ที่ใครเห็นเป็นต้องหลงรัก ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้วผู้ออกแบบดีไซน์เจ้าแมวดีคันนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังตำนานความคลาสสิคของ Porsche 911 ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากเรามองหน้าตาของ Good Cat และแอบเคลิ้มชวนฝันถึง 911 ในเวอร์ชั่นรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกปรับดีไซน์ให้น่ารักมากยิ่งขึ้น

จุดเด่นในส่วนต่อมาก็คือ ความสะดวกสบายที่ครบคัน เห็นเป็นรถไฟฟ้าสุดน่ารักแบบนี้ แต่เจ้า Good Cat นั้นมาพร้อมกับฟีเจอร์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายที่ครบครันเทียบชั้นรถยนต์หรูจากค่ายยุโรปเลยก็ว่าได้ เริ่มมาตั้งแต่หน้าจอ Interactive Double Screen ที่เป็นหน้าจอ 2 จอเชื่อมต่อกันในขนาด 17.25 นิ้ว โดยแบ่งเป็นจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบดิจิตอล Full TFT ขนาด 7 นิ้ว และหน้าจอมัลติมิเดียระบบสัมผัส ขนาด 10.25 นิ้ว

พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น ดีไซน์สุด Cute ที่มีปุ่มสั่งการเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่ถ้าหากคุณคิดว่ามันใช้งานยุ่งยากเกินไป ORA Good Cat คันนี้ยังสามารถรองรับการสั่งงานด้วยเสียง แถมเรายังสามารถตั้งชื่อเจ้าแมวดีของตัวเองได้ตามตรงการอีกด้วย ซึ่งระบบสั่งการด้วยเสียงหลังจากที่ได้ทดลองเล่นดู ก็มีความเสถียรอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำตามคำสั่งได้รวดเร็ว แต่น้องยังมีอ๋องๆ อยู่บ้างหากคำสั่งนั้นยากเกินไป หรือพูดไม่ชัดเจน ซึ่งจุดนี้คงต้องรอการอัปเดตเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นใหม่กันภายหลัง แต่ก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพราะการอัปเดตสามารถทำผ่านระบบ FOTA ที่เราสามารถกดอัปเดตเวลาไหนก็ได้ คล้ายกับการอัปเดต iOS เวอร์ชั่นใหม่บนมือถือของเรานั่นแหละ

แท่นชาร์จ Wireless Charger แบบไร้สาย น้องแมวดีคันนี้ก็มีให้พร้อม ระบบแอร์ก็ Dual Zone แยกซ้าย-ขวา พร้อมกรองอากาศที่กรองฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ แต่แอร์หลังไม่ได้ทำมาให้นะแจ้งไว้ก่อน

แต่ความเจ๋งจะอยู่ที่เบาะนั่งฝั่งผู้ขับ ซึ่งนอกเหนือจะเป็นระบบปรับไฟฟ้าแล้ว ยังมีระบบนวดหลังมาให้อีกด้วย (เฉพาะรุ่น 500 Ultra) แต่แอบเสียดายนิดๆ ตรงที่น่าจะให้มาครบทั้งคู่หน้าไปเลย นอกเหนือจากนั้นอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ก็มีเหมือนกับที่มีอยู่ในรถยนต์ระดับ C-Segment ขึ้นไปทั้งหมด เพียงแต่ดีไซน์และการตกแต่งมันโคตรจะ Cute โดยเฉพาะในรุ่นท็อป 500 Ultra ที่เป็นสีตัวถังทูโทน เพราะคุณก็จะได้การตกแต่งภายในสีทูโทนเช่นเดียวกัน

จุดเด่นต่อมาคือเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องของระบบความปลอดภัย ซึ่งต้องบอกเลยว่า ORA Good Cat นั้น คือรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยครบครัน และเยอะที่สุดในตลาดเลยก็ว่าได้ โดยจะเป็นรองแค่ HAVAL H6 Hybrid เพียงแค่ระบบเดียวก็คือ ระบบช่วยถอยหลังอัตโนมัติ Auto Reversing Assistance (ARA) ที่ถูกตัดออกไป นอกนั้นยกมาใส่ให้ทั้งหมดแบบไม่มีกั๊ก ไม่ว่าจะเป็น

  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (TJA)
  • ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA)
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW)
  • ระบบช่วยรักษาระยะให้อยู่กลางเลน (LCK)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK)
  • ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS)
  • การเข้าโค้งอัจฉริยะ (Intelligent Turn)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA)
  • ระบบตรวจความดันลมยาง (TPMS)
  • กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา
  • ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ 3 รูปแบบ (IAP)
  • ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)
  • ระบบช่วยเตือนความเมื่อยล้าขณะขับขี่ (DFM)

จุดเด่นสุดท้ายที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของ ORA Good Cat ก็คือ ระบบขับเคลื่อน และแพลตฟอร์มโมดูล่าร์อัจฉริยะอย่าง GWM Lemon E Platform ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับ และใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า BEV โดยเฉพาะ (ไม่ได้เป็นการเอาโครงสร้างรถยนต์สันดาป มาใส่แบตเตอรี่เหมือนแบรนด์อื่นๆ)

โดยระบบขับเคลื่อนของ ORA Good Cat นั้น ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ที่ให้กำลังสูงสุด 143 PS แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร โดยทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 152 กิโลเมตร/ชั่วโมง มอบอัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ภายใน 3.8 วินาที ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ไฟฟ้าที่เป็นแบบปุ่มหมุน Electronic Shifter และมีโหมดการขับขี่ให้เลือกใช้งานมากถึง 5 โหมด ได้แก่ Standard, Sport, ECO, ECO+ และ Smart (ปรับเปลี่ยนเองอัตโนมัติตามลักษณะการขับขี่) แถมยังมีระบบกู้คืนพลังงาน (Energy Recovery) ที่มีให้ใช้งาน 3 ระดับ ได้แก่ น้อย, มาตรฐาน และ มาก เพื่อการประหยัดพลังงาน

ส่วนตัวชุดแบตเตอรี่ที่เป็นตัวกำหนดระยะทางการขับขี่ แบ่งออกเป็น 2 ชุดด้วยกัน คือ

แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ความจุ 47.788 kWh มีระยะทางวิ่งสูงสุด 400 กิโลเมตร (รุ่น 400 TECH, 400 PRO) สามารถชาร์จกลับด้วยไฟบ้านแบบ AC ประมาณ 8 ชม. และชาร์จเร็วกระแสตรง DC 0-80% ใน 45 นาที และ 30-80% ใน 32 นาที

แบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กิโลเมตร (รุ่น 500 ULTRA) สามารถชาร์จกลับด้วยไฟบ้านแบบ AC ประมาณ 10 ชม. และชาร์จเร็วกระแสตรง DC 0-80% ใน 60 นาที และ 30-80% ใน 40 นาที

เมื่อทราบถึงจุดเด่นของ ORA Good Cat กันไปแล้ว ก็มาว่ากันที่สมรรถนะการขับขี่จริงกันดีกว่า สำหรับการทดสอบครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการเดินทางจากกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา ซึ่งต้องเผชิญกับสภาพการจราจรที่ติดขัด และสภาพอากศที่ฝนตกหนักตลอดเส้นทาง

โดยการทดสอบครั้งนี้ทำให้รู้ว่าระยะทางที่ทาง GWM เคลมเอาไว้ให้ใน ORA Good Cat นั้นมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง ไม่ได้เคลมเอาไว้ให้ดูสวยหรู หรือเวอร์วังอลังการ เพราะจากการทดลองขับไปกลับครั้งนี้ในรุ่น 400 PRO (ซึ่งจะสามารถขับได้ไกลสุดที่ 400 กม.) ใช้พลังงานแบตเตอรี่ไปครึ่งถัง ในระยะทางไป-กลับราวๆ เกือบๆ 200 กม. ซึ่งระยะทางที่สามารถเดินทางต่อได้ที่ขึ้นโชว์ที่หน้าจอบอกเราว่าสามารถขับไปได้อีก 192 กม. ทั้งๆ ที่ขับแบบซัดแหลก สลับกับรถติดเส้นรามอินทรา-มีนบุรี แต่ตัวเลขก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่ GWM เคลมเอาไว้เลย

เมื่อตัวเลขระยะทางการขับขี่มีความเสถียร และตรงกับความเป็นจริง ก็ทำให้การขับขี่เดินทาง หรือการวางแผนใช้ ORA Good Cat เดินทางไกลก็มีความอุ่นใจได้มากขึ้น ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่หลายคนยังกังวลไม่กล้าเปิดใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่เราลองมาให้แล้วว่ามันไปได้ ถึงจุดชาร์จหรือที่หมายแน่นอน เพียงแต่ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี

ในเรื่องของระบบช่วงล่าง การทดสอบเดินทางข้ามจังหวัดครั้งนี้ ก็ต้องบอกว่าระบบช่วงล่างทาง GWM เซ็ทมาให้มีความกระชับ ลดอาการโยน และย้วยที่อาจจะเกิดจากรูปทรงของตัวรถที่มีหลังคาสูงโป่ง แต่ก็ยังคงให้ความสบายในการนั่งไม่ถึงกับแข็งกระด้าง เพียงแต่มันนุ่มนวล นั่งสบายสู้รถยนต์ระดับ C-Segment ไม่ได้ก็เท่านั้น

แต่จุดเด่นของเจ้าแมวดีเลยก็คือ ความคล่องตัว ขับสนุก มุดมันส์ ช่วงล่างเอาอยู่ทั้งเฟิร์ม และแน่น ผสานกับอัตราเร่งที่จี๊ดจ๊าดตามสไตล์รถยนต์ไฟฟ้า ยิ่งทำให้ขับสนุกกว่ารถยนต์สันดาปเครื่อง Turbo เสียอีก แต่ความเร็วสูงสุดจะไปได้แค่ 152 กม./ชม. นะ (อย่าเอาไปดันโล) และก็ถ้าคุณยิ่งซัดแหลก ก็ต้องแลกมาด้วยพลังงานแบตเตอรี่ที่ลดหวบนั่นเอง แต่ยังไงซะก็ไม่ได้เสียตังค์เติมน้ำมันอยู่แล้ว จะกลัวอะไรจริงไหม?

ในเรื่องของ Handling สัมผัสได้ชัดเจนจากการที่กลับมาลองขับในสนาม Test Track ที่เป็นการจัดทดสอบแข่งขันจับเวลาในสไตล์ Gymkhana ที่มีทั้ง Slalom, Lane Change, U-Turn Donut 1 รอบ แถมยากขึ้นไปอีกขั้นกับการที่ต้องเลี้ยวแบบกระทันหันตามสัญลักษณ์ และไฟจราจรเพื่อไปช่องทางที่ถูกต้องตามที่ GWM เป็นผู้กำหนด เรียกได้ว่าพี่ๆ นักข่าวทุกสำนักต่างก็เอาจริงเอาจัง และเค้นสมรรถนะของเจ้า ORA Good Cat มาใช้กันแบบไม่มีใครยอมใคร รวมทั้งทีมงาน Autostation.com ด้วย

ซึ่งจากการที่จัดเต็ม และมีการแข่งขันจับเวลาเกิดขึ้น ทำให้เราได้สัมผัสสมรรถนะการขับขี่ของเจ้าแมวดีกันแบบเต็มที่ และยืนยันได้เลยว่าหากเอาไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นบนท้องถนน เจ้า ORA Good Cat คันนี้เอาอยู่สบายๆ เพราะถึงแม้จะวาดพวงมาลัยแรงๆ แบบสาดเข้ากรวย Slalom ตัวรถก็ยังคงนิ่ง และให้การควบคุมที่มั่นใจได้ รวมไปถึง Lane Change ที่ต้องเปลี่ยนเลนกระทันหันในระยะประชันชิดสุดๆ และในความเร็วที่ควบคุมได้ไม่ง่าย เจ้าแมวดีก็ยังไปได้แบบไม่กินกรวย แถมตัวรถก็เก็บอาการจนความเสียวไม่เกิดขึ้นอีกด้วย จุดนี้บอกเลยว่าทำได้ดีเกิดคาดการณ์ก่อนขับไว้มากๆ

ส่วนในเรื่องของระบบความปลอดภัยเจ้าแมวดีคันนี้ให้มาเยอะ และร้องเตือนจนบางครั้งก็แอบรำคาญ ซึ่งเราสามารถเลือกเปิดหรือปิดฟีเจอร์ต่างๆ ได้จากหน้าจาอินโฟเทนเมนท์ แต่จะว่าไปมีให้ใช้ก็ดีกว่าไม่มีนะ ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การขับขี่ของแต่ละท่านเลย แต่สิ่งที่ชอบคือกกล้องรอบคัน 360 องศา ที่โคตรจะชัด แจ๋วกว่ารถยนต์ญี่ปุ่นระดับ D-Segment อีกไม่ได้โม้ และก็ระบบ Adaptive Cruise Control ที่ตามคันหน้าได้ยันจอดนิ่ง (ภายใน 3 วินาทีจะออกตัวตาม) และทำงานร่วมกับระบบควมคุมรถให้อยู่ในเลนทั้งทางตรงและทางโค้ง ทำให้เมื่อเปิดใช้งานระบบนี้แล้ว เจ้าแมวดีคันนี้ก็กลายเป็นรถที่ขับขี่อัตโนมัติได้ซะอย่างนั้น (แต่เราต้องจับพวงมาลัยไว้ และอย่าประมาท)

บทสรุป

โดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่า ORA Good Cat นั้น คือความหวังของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาเปลี่ยนความคิด และทัศนคติของคนไทยต่อรถยนต์ไฟฟ้าได้ดีเลยทีเดียว เพราะทั้งในเรื่องสมรรถนะ ความปลอดภัย การควบคุม และระยะทางการขับถูกพัฒนาจากแต่ก่อนไปมาก แถมเพียงแค่เปิดจองใน 24 ชม.แรก ก็กวาดยอดจองไปแล้วกว่า 4,296 คัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับราคาจำหน่ายแล้วละว่าจะปังอย่างที่คิดไว้หรือไม่ ซึ่งเราขอคาดการณ์ราคาเบื้องต้นไว้ให้ดังนี้

  • 400 TECH ราคา 859,000 บาท (ราคาคาดการณ์)
  • 400 PRO ราคา 999,000 บาท (ราคาคาดการณ์)
  • 500 Ultra ราคา 1,159,000 บาท (ราคาคาดการณ์)